"ก่อนอื่นขอยินดีกับแฟนปิศาจแดง และผลงานชนะ 2-1 เหนือเรอัล มาดริด นะครับ เพราะอย่างน้อย นี่คือ "น้ำทิพย์" ชะโลมใจเบา ๆ ในช่วงสถานการณ์แบบนี้เลยครับ"
ตามประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมา “ขั้นตอน” ในการเลือกกุนซือ หรือนักเตะของสโมสรอาชีพที่เหมาะสมน่าจะต้องมี “กระบวนการ” มาตรฐานประมาณหนึ่ง โดยมีอย่างน้อย 2-3 เหตุผลประกอบการพิจารณานะครับ:
1.คนคนนั้นจะ “เข้ากับ” วัฒนธรรม และแนวทางการเล่นของสโมสรได้หรือไม่
2.คนคนนั้นมีตัว “เปรียบเทียบ” เหมือน ๆ กันในตลาดซื้อขายหรือไม่ และถ้ามีอาจจะต้องนำเสนอบอร์ดบริหารผ่านความเห็นชอบของโค้ช (โค้ชเสนอเองได้) และทีมเทคนิค หรือจะเรียกว่า คณะกรรมการพิจารณาการซื้อขายผู้เล่น หรืออะไรแล้วก็แต่
อาจจะได้รายชื่อไฟนอล 2-3 ชื่อที่ “คุณสมบัติ” ไม่แตกต่างกันก่อนสุดท้ายทีมผู้บริหารสูงสุด หรือ “เจ้าของทีม” ไม่ว่าเดี่ยว หรือร่วมก็จะทำการตัดสินใจเลือกซื้อคนใดคนหนึ่ง (ลองดูเว็ปไซต์อย่าง transfermarkt.com ครับจะมี “ตัวเทียบ” ไว้เสมอ ๆ)
3.งบประมาณในการซื้อว่าได้เท่าไหร่? เป็นการซื้อที่ต้องมีการขายออกไปเพื่อไปสนับสนุนเงินในการซื้อหรือไม่?
ทั้งนี้ไม่ว่าจะนักเตะ หรือกุนซือที่อยู่ใน “ลิสต์” กลั่นกรองมาแล้ว 2-3 รายชื่อตามที่ผมได้กล่าวไว้ จริง ๆ แล้วแทบจะ “ทดแทน” กันได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใครเท่านั้น
สุดท้ายอาจต้องตัดสินที่การเจรจากับ “เอเยนต์” หรือตัวแทนนักเตะว่าจะ “ราบรื่น” เพียงใด คู่แข่งมีมากน้อยแค่ไหน หรือนักเตะเองมี “ทัศนคติ” อย่างไร โดยเฉพาะต่อโค้ช เพื่อนร่วมทีม และตัวสโมสรที่กำลังจะย้ายมา
อย่างไรก็ดี นักเตะ หรือกุนซือโดยเฉพาะ “ระดับโลก” ขั้นสูงสุด หรือ A-List อาจไม่เสมอไปจะอยู่ในสถานะภาพพร้อมขายบนหิ้งในตลาดซื้อขาย แปลได้ว่า มีอยู่จริง แต่ไม่ขาย!
หรือหากขายก็จะมี “ค่าฉีกสัญญา” มหาศาล หรือผสมกับ “เงื่อนไข” อื่น ๆ เช่น ย้ายได้ด้วยราคาถูกลงมาหน่อยหากทีมเดิมตกชั้น หรือไม่ได้ไปเตะสโมสรยุโรปหลัก ๆ คือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
กรณีนี้ก็เช่น แยน โอบลัค ค่าฉีกแพงระยับ 100 ล้านยูโร หรือแม้ไม่ใช่เกรดท็อป A++ ทว่าราคาของ เซอร์ดาน ชาคิรี่ 10 กว่าล้านปอนด์ก็จัดว่า ถูกมาก เพราะสโต๊คตกชั้น
หรือหาก “ลากตัวเอง” จนใกล้หมดสัญญา หรือก็คือ จนเหลือสัญญาน้อยกว่า 2 ปีที่จะทำให้อำนาจการต่อรองสวิงริงโก้มาที่นักเตะมากกว่าสโมสร
เช่น คริสเตียน พูลิซิช ของดอร์ทมุนด์ ที่สัญญากำลังหมดกับทีมเสือเหลือง และทำท่ายึกยักจนท้ายที่สุดยอดทีมเยอรมันอาจตัดใจขายซะเลยตั้งแต่ตอนนี้ แบบตัวเลขต่ำกว่าราคาประเมิน เข้าตำรากำขี้ดีกว่ากำตด ได้สัก 60 ล้านยูโร (แทนที่จะถึง 100) ก็ยังดี!
ดังนั้น จึงไม่แปลก และเป็นอย่างที่ เยอร์เก้น คลอปป์ ได้ว่าไว้ครับว่า พอได้กลิ่นตุ ๆ ว่า อลิสซัน เบคเกอร์ มีพรายกระซิบบอกว่า โรม่า “พร้อมปล่อย” หากได้ยินราคาเหมาะสม ลิเวอร์พูลจึงกระโจนเข้าคว้าทันทีด้วยราคาเป็นสถิติโลกนายทวาร 67 ล้านปอนด์แบบไม่ลังเล เพราะตำแหน่งนี้ “ในตลาด” แทบไม่มี หรือไม่มีตัวเทียบ หลุดมาตัวนึง แถม “ตัวท็อป” ก็ต้องคว้าไว้เลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ราคาจะไปไกลได้ขนาดนั้น
ตำแหน่งกุนซือก็เช่นกัน ตอนนี้หลัก ๆ แล้ว อันโตนิโอ คอนเต้, ซิเนอดีน ซีดาน ถือว่าเป็นกุนซือเกรด A ที่กำลัง “ว่างงาน” อยู่ ไม่นับอาร์เซน เวนเกอร์ ที่น่าจะเหมาะกับบทบาทที่ปรึกษามากกว่าแล้ว
ฉะนั้น โดยเฉพาะในราย ซีดาน กับ “สไตล์” การทำทีม และ “ความสำเร็จ” กับเรอัล มาดริด จึงดูฟิตพอเหมาะพอเจาะกับวิถีทางทีมปิศาจแดง แมนฯยูไนเต็ด พอดิบพอดี
มันจึงไม่แปลกนักครับกับ “ข่าว” โน่นนี่นั่นของ โจเซ่ มูรินโญ่ อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกันดีจะทำให้ตัวเค้ามีราคาต่อรองตอน “พรีซีซั่น” แบบนี้พุ่งเป็น “เต็ง 2” กุนซือที่จะโดนไล่ออก คือมันมีแรงกระตุ้นทั้ง “คำพูด” ตัวเอง และพลังผลักจาก ซีดาน ที่กำลังว่างอยู่ (คหสต. นะครับ) สถานการณ์ทีมปิศาจแดงจึงหนักอึ้ง “นอกสนาม” แบบที่ปรากฎอยู่นี้แหละครับ
เสริมเพิ่มเติม คือ การมาของ โจเซ่ มูรินโญ่ ไม่ถูกต้องตั้งแต่ “กระบวนการ” เลือก ณ จุดต่ำสุดของสโมสรที่ต้องการ “ผลงาน” นำหน้า “สไตล์” แล้วหลังหมดยุคท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไปในปี 2013
เดวิด มอยส์, ไรอัน กิ๊กส์ (สั้น ๆ) และหลุยส์ ฟาน ฮัล เป็น 3 ซีซั่นที่อยาก แต่ยากจะลืมของทีม แม้ฟาน ฮัล จะพาทีมได้แชมป์เอฟเอ คัพ ก็ตาม
ก่อนสุดท้ายแล้ว โจเซ่ มูรินโญ่ จะเข้ามา และแม้จะไม่จบ “ท็อปโฟร์” ในปีแรกแต่ก็คว้าแชมป์ลีกคัพ กับยูโรป้า ลีก ได้ตามด้วยจบอันดับ 2 ในฤดูกาลที่ 2 แม้จะมีคะแนนห่างจากแมนฯซิตี้ ถึง 19 คะแนนก็ตามที
รวม ๆ จึงกล่าวได้ว่า “ผลงาน” ใน 2 ปีแรกของ มูรินโญ่ ไม่ได้ “ขี้เหร่” และตอบโจทย์ในระดับน่าพอใจทีเดียว
อย่างไรก็ดีครับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกล้าง และสร้างวัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลเกมรุกในยุคท่านเซอร์เฟอร์กี้จนแฟน ๆ ทั้ง “เคยตัว” และกลายเป็น “ภาพจำ”
ไม่นับคุ้นชินกับความสำเร็จที่ได้มาซึ่งวิธีการเล่นแบบนี้ แม้แมนฯยูฯยุคท้าย ๆ ของเฟอร์กี้จะ “เพลามือ” และปรับเปลี่ยนแท็คติกส์เพื่อรับมือการเล่นในบอลยุโรปมากขึ้นก็ตาม
แต่อย่างไรก็ดี “ภาพรวม” ของทีมยังคงเป็นบอลเอนเตอร์เทน และเล่น “เพื่อแฟน ๆ” ชนิดนำแล้วก็ต้องนำอีก นำเพิ่ม ชนะต้องสวย บุกเพลิน เล่นมัน ฯลฯ
บ้านเราก็มีครับ แต่อาจจะด้วย “ปัจจัย” และแรงกระตุ้นต่างกัน (เช่น อัดฉีด) ทีมอย่าง บุรีรัมย์ หรือแบงคอก ยูไนเต็ด จึงบุกตลอดเวลา และต้องการประตูเพิ่ม ชลบุรี ยุคปัจจุบัน “ยังเติร์ก” ก็เล่นบอลสนุก รุกเร็ว สปีดบอลจัดจ้าน
เรียกได้ว่า หากเล่นแบบนี้ แฟนบอลจะชอบครับ และถึงขั้น “ยอมรับ” ได้ (ระดับหนึ่ง) หากผลการแข่งขันไม่น่าพอใจ หรือก็คือ “อย่างน้อย” มันยังมีเรื่อง “สไตล์” ให้ได้ชื่นชมบ้างนั่นเอง